อังกฤษกังวล วัยรุ่นหันมานิยม “ร่วมเพศทางทวารหนัก” อ้างเป็นเหตุดันแผนคุมอินเตอร์เน็ต
ภาพวาดแสดงฉากร่วมเพศทางทวารหนักของจักรพรรดิเฮเดรียนแห่งจักรวรรดิโรมัน (Hadrian) กับแอนตินอส (Antinous) คนสนิทชาวกรีก โดยนักวาดภาพอีโรติกชาวฝรั่งเศส Paul Avril, 1910
เวลาคนไทยมองฝรั่งเราจะนึกว่าเขานั่นเสรียิ่งนัก ไม่ว่าจะเรื่องการแสดงความคิดเห็น การแต่งกาย รวมไปถึงเรื่องเพศ แต่กว่าจะมาเป็นวันนี้ได้ สังคมฝรั่งเคยผ่านช่วงเวลาที่เสรีภาพต่างๆ ถูกควบคุมอย่างหนักจากศาสนจักรมาอย่างยาวนาน ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันรัฐบาลอนุรักษ์นิยมในตะวันตกก็ยังพยายามหาทางควบคุมการแสดงออกทางเพศของคนในสังคมอยู่
อย่างเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ 2016) กระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และการกีฬาของอังกฤษ ได้ออกเอกสารให้คำแนะนำว่าด้วยแผนการในการควบคุมสื่อโป๊เปลือยบนโลกออนไลน์ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมฯ อังกฤษแสดงความเป็นห่วงอย่างเจาะจงไปที่การร่วมเพศที่ไม่ได้เป็นไปตามแบบอย่างที่ทางการถือว่า “ปกติ” โดยอ้างว่า สื่อจำพวกนี้กำลังสร้างอิทธิพลในเชิงลบต่อสังคมโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ เนื้อความบางส่วนในคำแนะนำดังกล่าวมีอยู่ว่า
“หลายฝ่ายกำลังกังวลว่า คนรุ่นใหม่จะพากันคาดหวังกับประสบการณ์ทางเพศในชีวิตจริงของพวกเขาว่าจะต้องเป็นแบบเดียวกับที่พวกเขาเห็นจากสื่อลามก
ซึ่งหลายครั้งมักแสดงภาพของการให้ความยินยอมที่กำกวม ภาพของผู้หญิงที่มักเป็นฝ่ายที่ต้องยินยอมต่อการถูกกระทำ และฉากรักที่ไม่ได้ตรงกับโลกของความจริง”
“เป็นที่ชัดเจนว่าภาพเหล่านี้เสี่ยงต่อการทำลายความสามารถของเด็กๆที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เหมาะสมบทพื้นฐานของการให้ความเคารพ และความยินยอม” กระทรวงวัฒนธรรมฯ พยายามสื่อไปถึงปัญหาวัฒนธรรมการข่มขืน
“นอกจากนี้ยังมีคำถามต่ออิทธิพลของสื่อลามกในการโน้มนำให้เกิด ‘การร่วมเพศที่ไม่พึงปรารถนา’ ตัวอย่างเช่น เด็กรุ่นใหม่กำลังหันมาร่วมเพศด้วยการสอดใส่ทางทวารหนักมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน แม้จะมีงานวิจัยชี้ว่า เด็กสาวมักไม่ได้มองว่ามันเป็นกิจกรรมที่สร้างความรื่นรมย์แต่อย่างใด”
“แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของการร่วมเพศทางทวารหนักจะไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการบริโภคสื่อลามก แต่มันปรากฏอยู่ในสัดส่วนที่สูงในสื่อลามกกระแสหลัก ตัวอย่างเช่น ในการวิเคราะห์เนื้อหาชิ้นนึงพบว่ามีฉากดังกล่าว [ร่วมเพศทางทวารหนัก] เป็นสัดส่วนสูงถึง 56 % จากฉากร่วมเพศทั้งหมด”
ฟังกระทรวงวัฒนธรรมฯ อังกฤษร่ายมาแล้วก็สมเหตุสมผลอยู่ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า สื่อลามกเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างการยอมรับในวัฒนธรรม “ข่มขืน” หรือไม่ ซึ่งปัญหานี้เคยเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตในรั้วมหาวิทยาลัยที่สหรัฐฯ มาแล้ว
แต่ผู้รักเสรีทั้งหลายได้ฟังแล้วก็คงอดไม่ได้ที่จะโต้แย้งว่า จินตนาการถึงการ “ข่มขืน” ก็ถือเป็นหนึ่งในเสรีภาพของคนที่มีสิทธิที่จะจินตนาการถึงได้ หากไม่ได้ลงมือกระทำจริงๆ การเปลี่ยนจินตนาการดังกล่าวออกมาเป็นสื่อลามกย่อมไม่ผิด รัฐจึงไม่มีสิทธิมาปิดกั้น (เสรีภาพแบบนี้คงไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับประเทศที่แค่จะหาหนังโป๊มาดูอย่างเปิดเผยยังเป็นเรื่องยากอย่าประเทศไทย
[นี่ไม่ได้หมายถึงเอาหนังโป๊มาเปิดในที่สาธารณะ แต่หมายถึงการได้มาซึ่งหนังโป๊โดยชอบด้วยกฎหมาย]
และการแสดงความกังวลต่อการ “ร่วมเพศทางทวารหนัก” ก็มีความขัดแย้งอยู่ในตัว เมื่อทางกระทรวงวัฒนธรรมฯ เองบอกว่า “การเพิ่มขึ้นของการร่วมเพศทางทวารหนักไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการบริโภคสื่อลามก” ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องควบคุมสื่อลามกที่มีฉากร่วมเพศทางทวารหนัก และ
เหตุผลที่กระทรวงวัฒนธรรมฯ อ้างว่า ผู้หญิงไม่รู้สึกรื่นรมย์กับการร่วมเพศทางทวารหนัก ก็เป็นเรื่องอัตวิสัยมากๆ จนรัฐน่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคู่รักมากกว่าที่จะมาแสดงความกังวลเป็นเรื่องใหญ่โต
ก่อนหน้านี้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษสมัย มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ก็เคยแสดงท่าทีรังเกียจการร่วมเพศทางทวารหนักมาก่อน The Independent สื่ออังกฤษกล่าวว่า ในปี 1986 เธอเคยขอให้ฝ่ายรณรงค์ต่อต้านเอดส์ตัดทอนเนื้อหาการรณรงค์ในส่วน “พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ”
(ซึ่งรวมถึงการร่วมเพศทางทวารหนักด้วย)
ออก เนื่องจากเธอมองว่ากิจกรรมดังกล่าวเด็กๆไม่เคยรู้และไม่จำเป็นต้องรู้ แต่หนังสือพิมพ์ยังคงเดินหน้าลงโฆษณาตามแผนเดิม เธอจึงกล่าวว่า “ฉันยังคงไม่เห็นด้วยกับโฆษณาในส่วนนี้ อันเป็นงานโฆษณาที่คนรุ่นเยาว์ทุกคนจะได้เห็นและรู้ถึงกิจกรรมที่พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งจะกลายเป็นอันตรายได้”
ทัศนคติเชิงลบต่อการร่วมเพศทางทวารหนักมีรากฐานมาจากความเชื่อทางศาสนาคริสต์ที่มองว่ากิจกรรมทางเพศเป็นกิจกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิง และแม้คริสตจักรจะเสื่อมอิทธิพลไปนานแล้ว แต่ฝ่ายอาณาจักรก็ยังคงควบคุมพฤติกรรมทางเพศของคนในสังกัดสืบมา ซึ่ง The Independent ระบุว่า การร่วมเพศทางทวารหนักถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในอังกฤษและเวลส์จนกระทั่งมีการยกเลิกความผิดไปเมื่อปี 1967 นี่เอง จึงไม่แปลกที่ท่าทีรังเกียจการร่วมเพศทางทวารหนักจะยังคงหลงเหลืออยู่ในกลุ่มอนุรักษ์นิยม
และสื่อลามกในแบบ “ฮาร์ดคอร์” ก็ยังถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอังกฤษ ต่างจากรัฐประชาธิปไตยในตะวันตกส่วนใหญ่ที่เปิดกว้างในเรื่องนี้ แต่เมื่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเข้ามา การเสพหนังโป๊ไม่ว่าจะถูกจัดอยู่ในหมวดไหนก็เป็นเรื่องง่ายขึ้น กฎหมายควบคุมการเผยแพร่สื่อลามกแบบเดิมๆ ของอังกฤษก็แทบจะหมดฤทธิ์ไป เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เห็นหนังโป๊เป็นของผิดกฎหมาย ก็ห้ามการเผยแพร่ในยุคอินเตอร์เน็ตได้ยาก
การอ้างเหตุในการ “คุ้มครองเด็กและเยาวชน”
จึงนับเป็นเหตุผลที่ดีในการสร้างมาตรการควบคุมสื่อลามกบนอินเตอร์เน็ต เลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลกระทบไปถึงผู้ใหญ่ ด้วยผลจากกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล (ของอังกฤษ) ที่จะมีผลบังคับในปีหน้า (2017) ซึ่งบังคับให้เว็บไซต์ที่มีเนื้อหายั่วยุกามารมณ์ต้องตรวจสอบอายุของผู้เข้าชมอย่างเคร่งครัด
แต่มาตรการบังคับใช้กฎหมายถึงขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน สื่ออังกฤษพากันคาดเดากันว่า อาจต้องใช้วิธีการลงทะเบียนกับเว็บไซต์ด้วยบัตรเครดิต ซึ่งวิธีการนี้ย่อมกระทบต่อความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างถ้วนหน้า (เพราะหลายคนไม่กล้าแสดงออกหากต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง) แต่ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตอันสดใสของเด็กๆ ในอังกฤษเขา
ส่วนประเทศไทยเราห้ามสื่อลามกอยู่แล้วร้อยเปอร์เซนต์จึงไม่มีปัญหาต้องมาหามาตรการอะไรแบบนี้ (?)