Translate

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"โคโซโว" ดินแดนที่ถวิลหาความสงบ


"โคโซโว" ดินแดนที่ถวิลหาความสงบ

แม้ในสัปดาห์นี้จะมีข่าวมากมายที่ทำให้ผมและหลายคนต้องคอยติดตามกันอย่างใกล้ชิด แต่ข่าวที่ผมสนใจที่สุดข่าวหนึ่งก็คือข่าวการจะประกาศเอกราชของโคโซโว ซึ่งผู้ติดตามการเมืองระหว่างประเทศคงจะทราบดีว่าพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองมาตั้งแต่อดีต การประกาศเอกราชที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้(17 ก.พ.) คงจะเป็นเรื่องราวธรรมดาหากรัสเซียและเซอร์เบียไม่ออกมาคัดค้านเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน แม้จะได้รับการรับรองจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรป การส่งสัญญาณของรัสเซียจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง วันนี้ขอนำท่านเข้าสู่เรื่องราวของ "โคโซโว" ดินแดนที่ถวิลหาความสงบ เพื่อที่ทุกท่านจะได้เข้าใจที่ไปและที่มาของดินแดนแห่งนี้ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น และมันดำเนินมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร


โคโซโวเป็นดินแดนน่าสงสารแห่งหนึ่ง แม้จะมีประวัติอันยาวนานนับตั้งแต่ยุคสมัยไบเซ็นไทน์ซึ่งเมื่อก่อนใช้ชื่อว่าดาร์ดาเนีย ต่อมาในปี 850 ได้อยู่ในการปกครองของอาณาจักรบัลกาเรีย และได้กลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของไบเซ็นไทน์อีกครั้งในปี 1018 ในช่วงนั้นเกิดการพยายามหลายครั้งที่จะแย่งดินแดนต่างๆคืนจากชาวเซิร์บ ในสุดที่อาณาจักรเซอร์เบียก็ได้ครอบครองโคโซโวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1208 ซึ่งเป็นสมัยของสเตฟาน เนมันยาแห่งราชวงศ์เนมานยิก ซึ่งโคโซโวก้ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางด้านการเมือง ศาสนาและวัฒนธรรมของราชอาณาจักรนี้ไป ราชอาณาจักรเซอร์เบียได้ถึงจุดสูงสุดเมื่อปี 1346 ในยุคที่สเตฟาน ดูซานได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ์ของชาวเซิร์บ วลัคส์ กรีก และอัลบาเนียโดยควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของกรีกได้ แต่เมื่อเขาเสียชีวิตทุกอย่างก็ถึงจุดเปลี่ยนแปลง กลุ่มอำนาจเก่าต่างๆก็พยายามแย่งชิงอำนาจของตนคืนมาก จนทำให้เปิดช่องทางการเข้ามารุกรานของจักรวรรดิ์จักรออตโตมัน

โคโซโวตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรออตโตมันหลังจากการล่มสลายของราชอาณาจักรเซอร์เบียในปี 1459 ซึ่งการมาของออตโตมันนั้นได้นำเอาศาสนาอิสลามเข้ามาพร้อมกันด้วย หลังจากนั้นโคโซโวก็ต้องตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรีย ในปี 1683 เมื่อออสเตรียชิงเมืองดังกล่าวไปได้ สงครามครั้งนั้นออสเตรียได้รับการสนับสนุนจาก อัลบาเนีย แต่ต่อมาในปี 1690 ออตโตมันก็ได้โซโวคืน ในการกลับมาครั้งนี้ของออตโตมันทำให้ชาวเซิร์บจำนวนมากต้องอพยบหนีไปพร้อมกับผู้นำ ส่วนพวกที่เหลือก็เข้ารับอิสลามและได้ผสมกลมกลืนกับกลุ่มชาติพันธ์อื่น ออตโตมันก็ได้ล้มล้างระบบเดิมๆออกไป ชาวอัลบาเนียนที่นับถือศาสนาอิสลามก็ได้มีตำแหน่งสำคัญๆในโคโซโว ว่ากันว่าการเข้ารับอิสลามยังทำให้จ่ายภาษีแก่รัฐเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การปกครองของออตโตมันต่อโคโซโวยาวนานเกือบห้าศตวรรษด้วยกัน

หลังจากนั้นโคโซโวก็ยังไม่สงบเพราะกลุ่มชาวเซิร์บได้พยายามที่จะแย่งเอาดินแดนต่างๆที่เคยปกครองคืนจากออตโตมัน ในปี 1878 ได้มีการทำข้อตกลงสัติภาพซึ่งมีผลทำให้เมืองพริสตินา และ โคโซฟกา มิโทรวิกาต ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเซอร์เบีย ส่วนเขตที่เหลือของโคโซโวให้อยู่ในการปกครองของออตโตมัน หลังจากนั้นชนเชื้อสายอัลบาเนียนได้สร้างแนวร่วมของตนขึ้นมาเพื่ออยู่ภายใต้การปกครองของออตโตมัน โดยได้มีแกนนำชาวอัลบาเนียจากโคโซโว และมาเซโดเนียตะวันตกเข้าร่วมประชุมหารือกันเพื่อปกป้องกลุ่มของตนจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ทั้งนี้ได้ตั้งสันนิบาตแห่งปริซเรนขึ้นในปีเดียวกันเพื่อเป็นการรวมชนเชื่อสายอัลบาเนียไว้ด้วยกันภายใต้ร่มเงาของจักรวรรดิ์ออตโตมัน การกระทำในครั้งนี้ทำให้ชาวคริสเตียนเซิร์บต้องอพยพหนีขึ้นไปทางตอนบน ต่อมาเซอร์เบียได้ร้องต่อผู้นำโลกเพื่อกดดันให้ออตโตมันยอมทำตามข้อตกลงในเรื่องดินแดนที่ก่อนหน้านี้ออตโตมันเลี่ยงที่จะทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ ในที่สุดออตโตมันก็ต้องยอมทำสงครามกับกองทัพอัลบาเนีย หลังจากนั้นสามปี ออตโตมันจึงได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด การกระทำดังกล่าวทำให้สนธิสัญญา ซาน สเตฟานได้ปฏิบัติตามข้อตกลงอีกครั้ง ผลจากสงครามทำให้พื้นที่ของอัลบาเนียส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้ออตโตมัน และกองทัพเซิร์บต้องถอนกองกำลังออกจากโคโซโวเช่นกัน ท้ายที่สุดก่อนสิ้นศตวรรษที่ 19 ชาวอัลบาเนียก็ได้เข้าไปแทนที่ชาวเซิร์บในโคโซโว

แม้จะอยู่ภายใต้การปกครองของออตโตมันสันนิบาตปริซเรนก็ยังต้องการให้รวมเขตที่มีประชากรอัลบาเนียทั้งสี่เขตเข้าด้วยกันให้เป็นรัฐอัลบาเนียภายใต้จักรวรรดิ์ออตโตมัน แนวคิดตังกล่าวก็ถูกคัดค้านจากกลุ่มยังเตริกในออตโตมันและชาวเซิร์บที่มีอยู่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นในตอนนั้น แม้มีการจราจลเกิดขึ้นบ้างแนวคิดดังกล่าวก็ไม่เกิดผล

ต่อมาในช่วงสงครามบัลขานปี 1912 พื้นที่ส่วนใหญ่ของโคโซโวตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรเซอร์เบีย ส่วนพื้นที่ในเขตเมโทหิจาตกอยู่ภายใต้ราชอาณาจักมอนเตนิโกร หลังจากนั้นชาวเซิร์บจากที่ใกล้เคียงก็อพยพเข้าสู่โคโซโวเพื่อที่จะเอาโคโซโวกลับคืนมาอีกครั้ง ในทางกลับกันชาวอัลบาเนียก็หลบหนีออกไปอยู่ตามที่ต่างๆ จากการประชุมคณะทูตที่ลอนดอนในปีเดียวกันซึ่งเซอร์ เอ็ดเวิร์ด เกร์เป็นประธาน โคโซโวได้ถูกรับรองให้อยู่ใต้การปกครองของราชอาณาจักรเซอร์เบียและมอนเตนิโกร

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี 1915-1916 กองทัพเซอร์เบียได้พ่ายแพ้อย่างย่อยยับจากเนื้อมือของออสเตรีย-ฮังการี ทำให้กองทัพเซอร์เบียต้องถอยออกจากโคโซโว การถอยทัพของเซอร์เบียในครั้งนี้ทำให้โคโซโวต้องตกไปอยู่ภายใต้การครอบครองของบัลกาเรีย และ ออสเตรีย-ฮังการี ชาวอัลบาเนียก็ถือโอกาศสนับสนุนอำนาจใหม่ทันที ในช่วงนี้มีการเปิดโรงเรียนของชาวอัลบาเนียขึ้นมาใหม่อยากมากมาย ส่วนโรงเรียนแบบเซิร์บก็ถูกปิดไปมากเช่นกัน หลังจากนั้นในปี 1918 เซอร์เบียก็มายึดโคโซโวคืนได้ ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 กลุ่มประเทศดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นราชอาณาจักรเซิร์บ โครเอ็ท และ สโลเวเนีย ในวันที่ 1 ธันวาคมปี 1918 ซึ่งพวกเขาได้รวมเอาดินแดนที่ได้รับมาจากชัยชนะไว้ด้วยกัน

ในสมัยราชอาณาจักรใหม่นี้โคโซโวถูกแบ่งเป็นสี่ส่วน สามส่วนอยู่ในเซอร์เบีย (ซเวคาน โคโซโว และ เมโทหิยาทางตอนใต้) หนึ่งส่วนอยู่ในมอนเตนิโกร (เมโทหิยาทางตอนเหนือ) ต่อมาเมื่อ 26เมษายน ปี 1922 โคโซโวก็ถูกแบ่งย่อยเป็นสามเขตด้วยกันคือ โคโซโว ราสเซีย และ เซตา ในปี 1921 ผู้นำชาวอัลบาเนียได้ร้องเรียนต่อสันนิบาตชาติว่าชาวอัลบาเนียถูกฆ่าตายกว่า 12000 คน และถูกกักขังอีก 22000 คน และพวกเขายังเรียกร้องให้มีดินแดนที่มีแต่ชาวอัลบาเนียน ผลที่ตามมาคือพวกเขาได้ก่อตั้งขบวนการติอาวุธที่มีชื่อว่ากาชัคมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรัฐชาวอัลบาเนียขึ้นมา

ต่อมาในปี 1929 ราชอาณาจักรดังกล่าวก็ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย โคโซโวก็ถูกแบ่งอีกคือ เซตา มอโรวา และวาร์ดาร์ ราชอาณาจักรดังกล่าวสิ้นสุดลงไปหลังจากการรุกรานของฝ่ายอักษะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1941 ดินแดนส่วนใหญ่ของโคโซโวได้ตกอยู่ในการปกครองของกลุ่มฟาสซิสอัลบาเนียที่ควบคุมโดยอิตาลี และอีกส่วนที่เล็กกว่าตกอยู่ภายใต้การปกครองของซาร์แห่งบัลกาเรีย ส่วนเซอร์เบียนั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนาซีเยอร์มัน หลังจากอิตาลียอมแพ้สงครามในปี 1943 โคโซโวจึงตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของเยอร์มัน แต่หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปีโคโซโวก็ได้เป็นอิสระจากเยอร์มัน และได้รวมเข้าเป็นจังหวัดหนึ่งของเซอร์เบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในดินแดนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยยูโกสลาเวีย

แม้ว่าการร่วมอยู่ในสาธารณรับใหม่โคโซโวจะได้รับสิทธิปกครองตนเอง แต่ในทางปฎิบัติก็ไม่ได้เป็นดังนั้น การได้รับสิทธิในการปกครองที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนชื่อยูโกสลาเวียและเซอร์เบียไปเป็น สหพันธรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเซอร์เบีย ในปี 1960 ต่อมาตามรัฐธรรมนูญ ปี 1974 ทำให้จังหวัดสังคมนิยมที่ปกครองตนเองโคโซโวได้รับอำนาจในการปกครองตนเองเพิ่มขึ้น โดยการมีตำแหน่งสูงสุดอย่างประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ยังมีตำแหน่งในรัฐบาลกลางอีกด้วย ต่อมาติโตได้ทำให้อำนาจของเซอร์เบียน้อยลงเพื่อผลประโยชน์ของยูโกสลาเวีย การนี้ยังผลให้ วอจโวดีนาและโคโซโวกลายเป็นดินแดนที่มีอำนาจปกครองตนเองเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ภาษาราชการที่ใช้ในสหพันธรัฐมีทั้ง เซิร์บ โครเอท อัลบาเนียและตุรกี


ในปี 1981 นักศึกษาอัลบาเนียได้ประท้วงเรียกร้องให้โคโซโวยกฐานะเป็นสาธารณรัฐภายใต้การปกครองของยูโกสลาเวีย ซึ่งการเรียกร้องดังกล่าวได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรงจากยูโกสลาเวีย ต่อมาในปี 1986 สถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์และศิลปะแห่งเซอร์เบียได้จัดทำเอกสารที่เรียกว่าบันทึกซานูเพื่อนเตือนประธานาธิบดีถึงความขัดแย้งที่มีอยู่และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งบันทึกดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมากต่อแนวคิดของชาวเซิร์บ นายศโลโบดาน มิโลเซวิคได้อาศัยเรื่องดังกล่าวและช่วงเวลาที่เหมาะสมจนทำให้เขาก้าวขึ้นมามีอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเซอร์เบียโดยการมุ่งประเด็นสนใจไปยังโคโซโว ซึ่งต่อช่วงปลายยุค 80 (1989) มาเขาก็ได้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอันเป็นผลให้หยุดการให้สิทธิในการปกครองตนเองของโคโซโวและ วอจโวดีนาต้องจบลงไป

หลังจากการลดฐานะการปกครองตนเองของโคโซโว ชาวอัลบาเนียนได้ก่อตั้งขบวนการสันติวิธีเพื่อเป็นเอกราช ซึ่งชาวอัลบาเนียจะควำบาตรทุกกิจกรรมของรัฐ ทั้งนี้พวกเขาได้สร้างโรงเรียนและสถาบันทางการเมืองขึ้นมาเอง ในวันที่ 2 กรกฎาคม ปี 1990 รัฐสภาของโคโซโวได้ประกาศให้โคโซโวเป็นเอกราช อย่างไรก็ตามมันไม่ได้มีการรับรองจากชาติอื่นๆ ในอีกสองปีต่อมารัฐสภาก็ได้จัดให้มีการลงประชามติที่มีนานาชาติร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์แต่ไม่ได้เป็นการรับรองจากนานาชาติอย่างเป็นทางการ ผลปรากฎว่ามีคนมาลงคะแนนทั้งสิ้นกว่า 80 เปอร์เซ็น และ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ลงความเห็นให้โคโซโวเป็นเอกราช


หลังจากมีข้อตกลงเดตันในปี 1995 ชาวอัลบาเนียนได้ตั้งกลุ่มกองกำลังปลดปล่อยโคโซโวขึ้นมา โดยใช้ยุทธวิธีกองโจรเข้าต่อกรกับกองกำลังของเซอร์เบีย หลังจากนั้นในปี 1998 ชาติตะวันตกเริ่มที่จะเข้ามากดดันรํฐบาลเซอร์เบียโดยให้ลงนามเพื่อหยุดการโจมตีและให้ถอนกองกำลังออกไป โดยจะมีตัวแทนจากชาติตะวันตกคอยสังเกตการณ์ในการถอนกำลังดังกล่าว แต่การหยุดยิงก็เกิดขึ้นได้ไม่นานการปะทะของทั้งสองฝ่ายก็เกิดขึ้นอีกที่เมืองราซัก ซึ่งทางทางสหภาพยุโรปได้ส่งตัวแทนมาเพื่อสืบสวนกรณีย์ดังกล่าว จากกรณีย์การฆ่ากรรมหมู่ชาวอัลบาเนียที่เมืองราซักทำให้สหภาพยุโรปพยายามให้ยูโกสลาเวียยอมลงนามในข้อตกลงที่เตรียมไว้แต่ยูโกยังปฏิเสธ

นาโตจึงเปิดฉากการกดดันทางทหารในยุทธการ 78 วัน ปี 1999 โดยมุ่งเฉพาะเป้าหมายทางทหารในโคโซโว ต่อมาก็ขยายไปสู่ทั่วทั้งยูโกสลาเวีย โดยเป้าหมายจะเป็น สะพาน โรงไฟฟ้า โรงงาน สถานีโทรทัศน์ ไปรษณีย์ และตึกทางราชการต่างๆ ในช่วงนี้คนเชื้อสายอัลบาเนียนับล้านได้อพยพออกจากโคโซโว และส่วนหนึ่งก็เสียชีวิตจากการปะทะกันดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการฆ่ากรรมหมู่ชาวอัลบาเนียเกิดขึ้นในหายแห่งเช่น คัสกา โปดูเจโว เวลิกา ครูซา ซึ่งกระทำโดยฝ่ายกองกำลังเซอร์เบีย และในการโจมตีครั้งนั้นกลุ่มกองกำลังเซิร์บก็มุ่งทำลายสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวอัลบาเนียด้วย โดยการทำลายมัสยิดไปถึง 200 กว่าแห่ง แต่หลังสงครามก็มีการทำลายโบสคริสต์เหมือนกัน

หลังจากสงครามสิ้นสุด สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ผ่านมติข้อตกลงที่ 1244 โดยให้โคโซโวอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ และ KFOR หรือกองกำลังเพื่อสันติภาพที่นำโดยนาโต หลังจากนั้นกลุ่มเชื้อสายอัลบาเนียก็โจมตีกลุ่มเชื้อสายอื่นทันที โดยเฉพาะเชื้อสายเซิร์บ ทำให้คนเหล่านั้นจำนวนมากต้องอพยพออกจากโคโซโวไป ในปี 2001 ยูเอ็นได้ประกาศกรอบรัฐธรรมนูญของโคโซโวเพื่อที่จะจัดตั้งสถาบันต่างๆให้เกิดขึ้นมา และได้มีการเลือกตั้งในปลายปีนั้น ต่อมาในปี 2004 ได้มีการปะทะกันทางเชื้อชาติที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโคโซวา มีการทำร้ายซึ่งกันและกัน เกิดจราจลไปทั่วเมือง หลังจากนั้นตำรวจโคโซโวได้ก่อตั้งทีมพิเศษเพื่อจัดการเรื่องดังกล่าว

และหลังจากการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา(17 พฤศจิกายน 2007)นายฮาชิม ทาชิได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของโคโซโว เขาได้ประกาศเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ที่จะประกาศเอกราชให้กับโคโซโว ซึ่งคาดว่าการประกาศดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีสหรัฐฯและสหภาพยุโรปสนับสนุนการกระทำดังกล่าว แต่ทว่ามีเสียงคัดค้านดังมาจากผู้นำหมีขาวผู้ซึ่งจะลงจากตำแหน่งในไม่อีกกี่วันข้างหน้านี่ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องการเลือกปฏิบัติซึ่งเขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว และจะไม่รับรองคำประกาศดังกล่าวที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่จะมาถึงนี้ นอกจากรัสเซียแล้วยังมีอีกประเทศที่ออกมาประกาศต่อต้านการกระทำดังกล่าวอย่างชัดเจนก็คือเซอร์เบียซึ่งแม้จะเสนอญัติดังกล่าวให้กับสหประชาชาติเพื่อทบทวนเรื่องดังกล่าว แต่การที่ลูกพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯออกมาสนับสนุนด้วยแล้วเรื่องดังกล่าวก็ยากที่จะทัดทาน เราต้องติดตามดูกันต่อไปว่าสุดท้ายเรื่องราวของประเทศที่น่าสงสารนี้จะลงเอยเช่นใด แม้บทเรียนจากประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้จักความผิดพลาดในอดีต เราก็มักจะตกหลุมพลางแห่งความผิดพลาดนั้นซำแล้วซำเล่า แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ยังมีค่าแก่การจดจำ

สนต้นที่เก้า
ภาพประกอบจาก

http://img.timeinc.net/time/daily/special/kosovo/maps/kosovomap.gif

รายการบล็อกของฉัน