Translate

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สาระน่ารู้ menmen(โรคที่มากับน้ำท่วม)


โรคที่มากับน้ำท่วม
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ประชาชนในหลายจังหวัดจำเป็นต้องดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางน้ำที่ท่วมขังบ้าน เรือนของตนเอง ทั้งหมดนี้อาจนำพามาซึ่งโรคภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้จากสาเหตุน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นโรคผิวหนัง เช่น แผลจากน้ำกัดเท้า โรคระบบทางเดินหายใจ โรคตาแดง โรคระบบทางเดินอาหารติดเชื้อ โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โรคหัด และโรคไข้มาลาเรีย นอกจากนี้อาหารที่ไม่สะอาดก็เป็นปัจจัยหนึ่งของการก่อให้เกิดโรค รวมถึงควรต้องระวังสัตว์ที่มีพิษกัดต่อย ในด้านจิตใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือ ต้องระวังภาวะเครียด วิตกกังวล

นายแพทย์วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครธน ได้ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคภัยในการดูแลตนเองจากโรคภัยต่าง ๆ ดังนี้

โรคผิวหนัง
ที่พบบ่อยจากการเกิดน้ำท่วม ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเป็นเวลานาน อาจมีอาการเท้าเปื่อย คันตามซอกนิ้วเท้า ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำ หลังจากเสร็จภารกิจแล้วควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผลแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ

โรคปอดบวม
ผู้ประสบภัยน้ำท่วม หากมีการสำลักน้ำหรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในปอด ก็มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมได้ มีอาการเช่น ไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบเหนื่อย เมื่อมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคปอดบวมต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

โรคตาแดง
เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ถ้าไม่รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา น้ำมูกของผู้ป่วย หรือจากใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หรือจากแมลงวันแมลงหวี่ตอมตา หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง โดยอาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้าง การป้องกันทำได้โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนให้สะอาดอยู่เสมอ


โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ บิดตับอักเสบเอ และไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป โรคอุจจาระร่วงมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือด อาจมีอาเจียนร่วมด้วย

กรณีอาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้องร่วมกับถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว โรคอุจจาระร่วงจะมีการถ่ายอุจจาระเหลวจำนวนมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือมูกปนเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน ทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ อาจทำให้ช็อกหมดสติ

โดยเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และปรสิตหนอนพยาธิ ที่มากับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด การไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนการปรุงอาหาร และภาชนะสกปรก ผู้ป่วยควรกินหรือดื่มของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ ได้แก่ สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โออาร์เอส น้ำแกงจืด หรือน้ำข้าวใส่เกลือ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรสิส
เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญเชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนอยู่ใน น้ำท่วมขังพื้นดินที่ชื้นแฉะได้นาน เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก หรือไชเข้าเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือ ผิวหนังที่แช่น้ำนาน หรืออาจติดเชื้อจากการรับประทานอาหารที่หนูฉี่รด มีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4-10 วัน โดยจะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะและปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางคนมีอาการตาแดง อาจมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือท้องเดิน หากมีอาการดังกล่าวหลังจากสัมผัสสัตว์หรือลุยน้ำ ย่ำโคลน ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือหน่วยแพทย์ในพื้นที่ทันที ป้องกันโดยสวมรองเท้าบู๊ตยางกันน้ำหากต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน โดยเฉพาะถ้ามีบาดแผล หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนาน ๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องรีบอาบชำระร่างกายให้สะอาดโดยเร็วที่สุด

โรคเครียดวิตกกังวล
เป็นสิ่งที่คนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าจิตใจอ่อนแอร่างกายก็จะอ่อนแออย่าพึ่งสารอาหารใดสารอาหารหนึ่งเพื่อลด ความเครียด แต่ควรพยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักผ่อนคลายก็จะสามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก (ไทยโพสต์)

รายการบล็อกของฉัน